ทำความเข้าใจก่อนใช้ยาเพร็พ และยาเป๊ป
| | |

ทำความเข้าใจก่อนใช้ยาเพร็พ และยาเป๊ป

สิ่งสำคัญของยาต้านไวรัสเอชไอวีคือ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ หากพูดถึงวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวี PrEP และPEP  ว่าทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี

PrEP และ PEP คืออะไร?

เพร็พ (PrEP-Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ หรือเป็นการใช้ยาเพื่อเตรียมตัวไว้ก่อนจะมีโอกาสได้สัมผัสเชื้อ

เป๊ป (PEP- Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบที่เพิ่งได้สัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

PrEP & PEP ทำงานอย่างไร?

กลไกของยา PrEP จะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ

เมื่อเชื้อเอชไอวี เข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ แต่ก่อนจะเริ่มกินยา PrEP ต้องมีการตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน หรือมีผลเลือดเป็นลบ และต้องตรวรค่าการทำงานของไต ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิต แต่กินยาเฉพาะช่วงที่คิดว่าจะตัวเองจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ

กลไกของยา PEP จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายภายในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุด

ประโยชน์ของ PrEP & PEP คืออะไร?

PrEP

ยาต้านไวรัสเอชไอวี แก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ก่อนมีการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสนั้น PrEP สามารถให้ได้ทั้งในรูปยากิน หรือสารฆ่าจุลินทรีย์ในรูปเจลผสมยาต้านไวรัสใส่ในช่องคลอด หรือในทวารหนัก และห่วงบรรจุยาต้านใส่ในช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ทันท่วงทีหลังการสัมผัสเชื้อ และเป็นการเพิ่มการป้องกันต่อการติดเชื้อเอชไอวี

PEP

ยาต้านไวรัสไอวีที่ช่วยลดโอกาสในการสร้างไวรัสเอชไอวีในร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับการสัมผัสเชื้อ ซึ่งมาจากหลายรูปแบบ อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรืออุบัติเหตุจากการโดนเข็มฉีดยาตำ เป็นต้น

PrEP & PEP เหมาะกับใคร ใครบ้างที่ควรได้รับยา

PrEP เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง 

  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
  • ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้มีคู่ผลเลือดบวกและคู่กำลังรอเริ่มยาต้านเอชไอวีอยู่หรือคู่ได้รับยาต้านเอชไอวีแล้วแต่ยังคงตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ หรือะรอดูผลการรักษา
  • ผู้ที่มีคู่ผลเลือดบวกที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือนรวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี

PEP เหมาะสำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้

  • ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ ถุงยางอนามัยฉีกขาด เป็นต้น
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดที่มีการฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือน
  • บุคลากรสาธารณสุขที่ถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ

จะรับ PrEP & PEP ได้อย่างไร

การรับยาเพร็พ(PrEP)

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับ PrEP
  • ผู้มารับบริการจะต้องได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต 
  • หลังจากที่ได้รับยา PrEP ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน 
  • หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

การรับย่าเป๊ป(PEP)

  • ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยา PEP แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยา PEP หรือไม่ 
  • แพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยา PEP
  • หากติดเชื้อเอชไอวี อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยา PEP ได้
  • หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน 
  • งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

วิธีการกินยา PrEP & PEP

  • กินยา PrEP นี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์
  • กินยา PEP ต้องได้รับทันที ห้ามเกิน 72 ชั่วโมง รับยาติดต่อกัน 28 วัน มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ผลข้างเคียงของยา PrEP & PEP 

  • PrEP  มีอาการคลื่นไส้และน้ำหนักลดหลังได้รับยาในระยะแรก ผลข้างเคียงระยะยาวพบได้น้อย ได้แก่ ผลต่อการทำงานต่อไต 
  • PEP มีผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย ปวดหัว อิดโรย คลื่นไส้ และอาเจียน 

ข้อจำกัดของ PrEP 

  • ไม่สามารถปกป้องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ไม่สามารถปกป้องกลุ่มเสี่ยงได้ถ้าไม่รับประทานยาตามที่กำหนด
  • ไม่สามารถฆ่าเชื้อเอชไอวี หรือเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

PrEP & PEP ป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้มากแค่ไหน

การใช้ยา PrEP อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยกินต่อเนื่องทุกวันไปอย่างน้อย 7 วันก่อนที่จะมีความเสี่ยง จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี จากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า 90 % ส่วนในกรณีของผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้ถึง 70%

การใช้ยา PEP ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ 100% แต่เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการที่คนคนนึงจะติดเชื้อเอชไอวี หรือไม่หลังได้รับยา PEP นั้นมีมากมายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของโรคที่รับเชื้อมา ว่ามีปริมาณ viral load มากน้อยแค่ไหน ความเข็งแรงของตัวคนไข้เอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อโอกาสที่คนไข้จะติดหรือไม่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งสิ้น 

ความเสี่ยงและข้อกังวลของ PrEP & PEP

  • ผู้รับการรักษาต้องไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และต้องตรวจสุขภาพตามขั้นตอนทางการแพทย์ก่อนจึงจะสามารถรับยาได้
  • อาจทำให้ตรวจเจอเชื้อไวรัสได้ช้าลงในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงก่อนการใช้ยา
  • เป็นเพียงตัวช่วยเสริมการป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันได้ 100% จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อกระดูกและไตได้
  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการเวียนและปวดศีรษะ อ่อนแรง ซึ่งมักดีขึ้นได้เองในเวลานไม่นาน
  • ต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน ก่อนจึงมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไวรัสเอชไอวี
  • อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ทุกครั้ง
  • ผู้ที่ทำงานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอ
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เนื่องจากบางคนอาจไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ครั้งละหลายคนพร้อมกัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ขาดสติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้
  • ใช้เข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้ง และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

ความแตกต่างระหว่างยา PEP และ PrEP

  • PrEP คือ ยาป้องกันก่อนการเสี่ยงในการได้รับหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวี
  • PEP  คือ ยาฉุกเฉินที่ต้องทานหลังการเสี่ยงการได้รับหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวี ภายในเวลา 72 ชั่วโมง

ทั้ง PrEP กับ PEP ถึงแม้ว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ แต่ก็ยังไม่ 100% ดังนั้น จึงแนะนำว่าอย่าได้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด

อ่านบทความอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/prep-กับ-pep-คืออะไร-ทำความเข้าใ/
  • PrEP กับ PEP http://wongkarnpat.com/viewya.php?id=2401
  • เพร็พ (PREP) ,เป็ป (PEP) คืออะไร https://th.trcarc.org/เพร็พ-prep-เป็ป-pep-คืออะไร/
  • ยาต้านไวรัส HIV อีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยง https://www.pobpad.com/ยาต้านไวรัส-hiv-อีกหนึ่งทา

Similar Posts