โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases)

โรคที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งโดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แล้วทำให้เกิดโรค ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ทุพลภาพและอาจตายได้ ซึ่งมผลกระทบต่อภาวะสุขภาพกาย และจิตใจและสุขภาพที่รุนแรงต่อทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases: STD) คือกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน

สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. เชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดรักษาหาย บางชนิดไม่มียารักษา บางชนิดจะแฝงตัวและเป็นซ้ำได้อีก เช่น เริม (Herpes Simplex),หูดหงอนไก่ (Papilloma Virus หรือ HPV),เอดส์ (HIV) และไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ
  2. เชื้อแบคทีเรีย รักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น หนองในแท้ (Gonorrhea),หนองในเทียม (Chlamydia),ซิฟิลิส (Syphilis) และช่องคลอดอักเสบ ฯลฯ
  3. เชื้ออื่นๆ  สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เชื้อพยาธิ (Trichomanas),เชื้อรา (Candida)

กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • คนที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า      
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 1 ปีที่ผ่านมา
  • ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์

อาการแบบใดสงสัยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  

  • ในผู้ชาย ปัสสาวะแสบขัด ขาหนีบบวม เป็นฝี เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผลบริเวณอวัยวะเพศ มีเมือกใสหรือหนองไหลออกมา
  • ในผู้หญิง รู้สึกเจ็บเสียวท้องน้อย ขาหนีบบวม เป็นฝี เจ็บปวด คันอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผลบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นเหม็น

อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ปวด หรือมีตุ่ม มีผื่น หรือแผล ภายนอกอวัยวะเพศ ภายในอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก เจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ 
  • มีของเหลวเป็นเมือกใส หรือหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศชาย
  • มีตกขาวสีเหลืองมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง และตกขาวผิดปกติแบบเรื้อรังเป็นๆหายๆ
  • อวัยวะเพศหญิงมีเลือดไหลผิดปกติ
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวม ปวดบริเวณขาหนีบ
  • ปวดท้องน้อย หรือเจ็บเสียวท้องน้อย
  • มีไข้
  • มีผื่นที่อวัยวะเพศชาย มือ หรือเท้า
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ขาหนีบบวม 
  • เป็นฝี 
  • เจ็บปวดอวัยวะเพศ
  • เชื้อบางชนิด อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก หรือบางระยะโรค เช่น หูดหงอนไก่ชนิดที่ก่อมะเร็งปากมดลูก (High risk group HPV), เริม, เอดส์, ซิฟิลิสบางระยะ เป็นต้น

การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง และให้ความสำคัญกับการพาคู่นอนมารับการตรวจรักษา

ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาจะช่วยควบคุมอาการโรคได้ แต่การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต 

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  

  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์   
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เสี่ยงติดโรค
  • รักษาความสะอาดร่างกาย และอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ                                          
  • ตรวจโรคเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคู่ที่กำลังจะแต่งงาน  
  • ห้ามร่วมเพศ หากมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการติดโรคมากขึ้น
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังอายุน้อย เนื่องจากมีสถิติว่า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง
  • ศึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าติดต่อโรค

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ควรแจ้งให้คู่สามี/ภรรยาแจ้งคู่นอนให้ทราบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อจะได้ป้องกัน ไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่คนอื่น
  • ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการอักเสบลุกลาม และเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังคนอื่น
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมาทุกชนิด
  • ให้รีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างทันท่วงที และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ไม่ควรซื้อยามารักษาเอง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ใครควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • กำลังวางแผนมีบุตรหรือแต่งงาน เชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยาง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งในช่องคลอด น้ำอสุจิ และเลือด หากไม่ใช้ถุงยางก็มีโอกาสสูงมากที่จะติดโรค
  • เพิ่งเปลี่ยนคู่นอนใหม่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรคไม่มีอาการแสดงออกให้รู้ได้เลย ดังนั้นเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าคู่นอนของเรามีเชื้อหรือไม่
  • จับได้ว่าแฟนแอบเปลี่ยนคู่นอน เนื่องจากเชื้อสามารถส่งต่อกันได้แม้จะเพิ่งรับเชื้อก็ตาม
  • มีคู่นอนหลายคน หากมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ก็ควรเข้ารับการตรวจ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไว้เพื่อความชัวร์
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีโอกาสเสี่ยงอย่างมากที่จะติดโรคจากการถูกล่วงละเมิด เพราะไม่ทราบถึงสุขอนามัยของผู้กระทำ
  • เริ่มมีอาการของโรค โรคบางโรคก็อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นชัดเจน เช่น ซิฟิลิส หนองใน อาจมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปัสสาวะแล้วเจ็บ เป็นต้น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจจากอะไร?

การตรวจสามารถทำได้หลายวิธี แพทย์จะเลือกการตรวจที่เหมาะสมที่สุดจากการซักประวัติ ซึ่งวิธีตรวจหลักๆ จะมีดังนี้

  1. ตรวจเลือดหรือปัสสาวะ เป็นการตรวจที่นิยิมที่สุด เพราะสามารถตรวจได้หลายโรค เช่น เชื้อเอชไอวี เริม หนองใน ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบ
  2. ตรวจภายใน (Pap smears) ปกติแล้วการตรวจด้วยวิธีแปป สเมียร์ เป็นการตรวจเพื่อสังเกตอาการเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก แต่มะเร็งปากมดลูกก็อาจเกิดจากการติดเชื้อ HPV เมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน
  3. ตรวจสารคัดหลั่ง ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ ปากมดลูก ทางเดินปัสสาวะ หรือทวารหนัก เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อได้
  4. ตรวจร่างกาย ในกรณีที่อาการเริ่มแสดงออกมาให้เห็นแล้ว การตรวจร่างกายก็สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ เช่น เริม หูด ซิฟิลิส เป็นต้น

อ่านบทความอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=562
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ น่ากลัวแค่ไหน! https://blog.yesmomapp.com//โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์-น่ากลัวแค่ไหน-ad01768dca9e
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กันเถอะ (STD) https://hdmall.co.th/c/std-test
  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ https://www.synphaet.co.th//ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร และเกี่ยวข้องกับเชื้อ HIV อย่างไร? https://www.caremat.org/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/
  • เพศสัมพันธ์กับโรคติดต่อทางนรีเวช https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/บทความ-สุขภาพผู้หญิง/เพศสัมพันธ์กับโรคติดต่อทางนรีเวช

Similar Posts