โรคเริม โรคติดต่อทางผิวหนัง ที่เราป้องกันได้
|

โรคเริม โรคติดต่อทางผิวหนัง ที่เราป้องกันได้

เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยมักพบผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว และวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยโรคเริมส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการของโรค  หากเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะเมื่อเป็นแล้วอาจทำให้การรักษาให้หายขาดได้ยาก

โรคเริม (Herpes) คืออะไร

เริม (Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งของผิวหนังและเยื่อเมือกต่าง ๆที่พบบ่อยมากบริเวณปาก และอวัยวะเพศแล้ว ทำให้มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เอง แต่มักกำเริบซ้ำและเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการกำเริบได้บ่อยและรุนแรงกว่าปกติ  

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากได้รับเชื้อครั้งแรกจนกระทั่งแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 2-20 วัน

สาเหตุการเกิดโรคเริม

โดยเชื้อไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1)  มักพบการติดเชื้อบริเวณปากหรือรอบๆ ปาก เกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น มีความเครียด พักผ่อนน้อย ร่างกายอยู่ในช่วงพักฟื้นจากการเจ็บป่วยหรือผ่าตัด หรือ แม้แต่ช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ก็สามารถป่วยด้วยโรคนี้ได้ เช่น อาการเริมที่ปาก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2) เป็นการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธ์ หรือ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทหารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ เป็นต้น พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

การติดเชื้อทั้ง 2  ชนิดนั้น สามารถเป็นปัจจัยสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นกัน เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การติดเชื้อที่สมอง และอวัยวะสำคัญต่างๆ

HSV-1 และ HSV-2 เหมือนกันหรือไม่ ?

เชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด สามารถทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศได้ทั้งคู่ แต่โดยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 70-90 เปอร์เซ็นต์  ของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) เกิดในตำแหน่งที่สูงกว่าเอว พบมากบริเวณริมฝีปากและจมูก และร้อยละ 70-90 ของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 (HSV-2) เกิดในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเอว ซึ่งนั่นหมายถึงบริเวณอวัยวะเพศ

HSV-1 และ HSV-2 เหมือนกันหรือไม่

โรคเริมเกิดที่ไหนได้อีกบ้าง

นอกจากโรคเริมจะพบได้บ่อยที่บริเวณปาก และอวัยวะเพศแล้ว โรคเริ่มยังสามารถเกิดขึ้นกับบริเวณอื่นได้เช่นกัน

1. เริมที่ริมฝีปาก เริมในปาก เริมที่มุมปาก

เริ่มต้นจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนและคันบริเวณปากก่อนเกิดผื่น จากนั้นผื่นจะพัฒนาเป็นตุ่มใส และอาจรวมกันเป็นแผลใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย อาการของโรคแทรกซ้อนที่อาจพบคือ เชื้อไวรัสแพร่ไปติดเนื้อเยื่อข้างเคียง ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องการติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้

2. เริมที่ขา

เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดเสียว อาจมีอาการปวดแปลบมาก่อนที่จะเกิดตุ่มน้ำใสขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยจะขึ้นกันเป็นกลุ่ม

3. โรคเริมที่จมูก หรือ โรคเริมที่ตา

มีตุ่มน้ำใสเกิดเป็นกระจุกหรือกลุ่ม เมื่อมีอาการผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ถ้าพบว่ากระจกตาอักเสบจาก Herpes simplex virus แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสแบบทา  ซึ่งปกติมักจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

4. เริมที่คอ

เกิดแผลเปื่อยในช่องปาก ซึ่งมักจะเป็นแผลเดียวเกิดขึ้นที่บริเวณเหงือกหรือที่เพดานแข็ง มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำในช่วงแรกๆ จากนั้นน้ำจะแตกออก ทำให้เกิดสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง และเกิดแผลตื้นเมื่อลอกสะเก็ดออกจะกลายเป็นแผลตื้นสีแดง

5. เริมที่อวัยวะเพศ

เกิดตุ่มพองเล็กๆ แล้วแตกออก ทำให้เกิดการตกสะเก็ดและหายไปใน 2 -3 สัปดาห์ ในเพศหญิงมักเกิดบริเวณช่องคลอด ทวารหนักและสะโพก ส่วนในเพศชายจะเกิดบริเวณอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ บริเวณสะโพกใกล้ทวารหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บ แสบ คันบาดแผลจากตุ่มพอง พร้อมทั้งเจ็บขณะปัสสาวะร่วมด้วย

อาการของโรคเริม

อาการของการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิด อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ อายุ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และชนิดของเชื้อไวรัสเริม จะเริ่มจากพบตุ่มพองใสๆ เล็กๆ ที่บริเวณผิวหนัง จากนั้น ตุ่มใสจะเริ่มพองและปวดแสบปวดร้อน เมื่อผ่านไป 1- 2 วัน ตุ่มใสจะมีน้ำอยู่ข้างในและเริ่มแตกออก หากมีการติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบลุกลามและเกิดแผลขนาดใหญ่รักษาหายยากขึ้น

อาการร่วมนอกจากการมีตุ่มใส คือ อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาการก่อโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจึงคล้ายโรคหวัด แต่ไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลเหมือนหวัด แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกจะรู้สึกอาการรุนแรงและใช้เวลานานกว่าจะหายประมาณ 1-2  สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เคยเป็นแล้วกลับมาเป็นใหม่ระยะเวลาการหายจะเร็วขึ้น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว

เมื่อใด ควรไปพบแพทย์

  • มีตุ่มพอง ลุกลามมาก
  • ไข้สูง ไข้ไม่ลดภายใน 1 – 3 วัน (ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
  • เริ่มมีอาการทางดวงตา เช่น เจ็บตา เคืองตา น้ำตาไหล
  • มีตุ่มน้ำเป็นหนอง ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา
  • มีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะมาก แขน ขาอ่อนแรง ชัก และ/หรือโคม่า

การวินิจฉัยโรคเริม

  1. แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเริมได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และจากลักษณะตุ่มน้ำ 
  2. แต่ในบางรายซึ่งมีอาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปย้อมสี การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) หรือดีเอ็นเอของเชื้อเริมจากแผลหรือสิ่งคัดหลั่ง การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี)
  3. มักตรวจพบตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตร หลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ หรือพบตุ่มตกสะเก็ดหรือแผลเล็ก ๆ คล้ายรอยถลอกในบริเวณผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่ง ริมฝีปาก หรือที่อวัยวะเพศ และอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย อาจตรวจพบแผลขึ้นพร้อมกันหลายแห่งในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่เป็นเริมในช่องปาก

การรักษาโรคเริม

ถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดเจน แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ (เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาบรรเทาอาการคัน ให้สารน้ำในรายที่มีภาวะขาดน้ำ) ร่วมไปกับการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้หายเร็วขึ้น และลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น แต่มักจะไม่ได้มีผลในการป้องกันการกำเริบซ้ำ เพราะยาต้านไวรัสไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในปมประสาทได้ 

ส่วนในรายที่มีอาการแสดงไม่ชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งวิธีการรักษาโรคนี้ที่สำคัญคือการให้ยาต้านไวรัส เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียดและป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน

การรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคเริม คือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน โดยเฉพาะในบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น ดวงตา เพราะ การติดเชื้อเริม บริเวณใดก็ตาม ต้องดูแลตุ่มใสไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อซ้ำซ้อน เพราะถ้าหากติดเชื้อแทรกซ้อน จะทำให้เกิดการทำลายอวัยวะที่ติดเชื้อได้ เช่น ติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ตาบอดหรือสูญเสียการมองเห็นได้ หากติดเชื้อลุกลามอวัยวะภายในก็สามารถสร้างความอันตรายได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

การป้องกันโรคเริม

  • สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ ต้องหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะเชื้อเริมอาจมีในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ซึ่งเราสามารถสัมผัสเชื้อผ่านสิ่งของ เครื่องใช้ การใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ในที่สาธารณะ หากร่างกายอ่อนแอ และถ้าหากเรามีสุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อก็จะสามารถก่อโรคและอันตรายได้
  • ดื่มน้ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคติดต่อ
  • หลีกเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ และมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral-genital contact)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีตุ่มตามผิวหนังหรือเยื่อเมือก หรือผู้ป่วยที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก (โดยปกติแล้วระยะแพร่เชื้อติดต่อให้ผู้อื่นได้ คือ ตั้งแต่เริ่มมีอาการนำจนกระทั่งแผลหายตกสะเก็ด)
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จานชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกน เป็นต้น
  • ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่ในทุก ๆ วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียง และทำให้จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส/หลีกเลี่ยงความเครียด
  • การรับประทานยาต้านไวรัสทุกวันสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้ แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม แต่กำลังมีการศึกษาคิดค้นกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโรคที่พบได้บ่อย
ทำความสะอาดแผลให้สะอาด

การดูแลรักษาตัวเองระหว่างเป็นโรคเริม

  • ควรกินยาให้ถูกต้องตามหมอสั่ง
  • โรคเริม เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง โดยเฉพาะ เริม ที่กลับมาเป็นซ้ำและมักไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก ซึ่งเมื่อรู้ตัวแล้วว่าโรคเริมถามหา วิธีการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือการพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด และควรดื่มน้ำมากๆ
  • ในส่วนของแผลจากตุ่มน้ำ ถ้าเป็นเริมที่คอ แนะนำให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
  • หากเป็นตุ่มแผล บริเวณอื่นๆ เช่น เริมที่ขา เริมที่ก้น เริมที่จมูก ควรอาบน้ำและทำความสะอาดแผลให้สะอาด เช่น ฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มเป็นหนอง ไม่ควรแกะหรือเกาตุ่มแผล
  • กรณีที่มีไข้ สามารถรับประทานยาลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการ
  • ควรทำความสะอาดแผลวันละ 2 ครั้ง โดยใช้สบู่อ่อนๆและน้ำสะอาดล้างเบาๆโดยไม่ต้องขัดหรือฟอก หลังจากนั้นซับให้แห้ง อาจทายาขี้ผึ้งปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะ) เฉพาะที่ตรงบริเวณรอยโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
  • ควรใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศได้ดีกว่าจึงช่วยลดการอับชื้น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีตุ่มหรือแผลเริม และอย่างน้อยสองสัปดาห์หลังจากที่แผลเริมหายดีแล้ว
  • หากมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณรอยโรค อาจรับประทานยาแก้ปวดอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่เรารู้จักกันว่ายาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น
  • ควรบอกคู่นอนว่าเมื่อคุณทราบว่าได้รับเชื้อ
  • ห้ามให้ผู้อื่นสัมผัสแผล
  • ตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกา และตุ่มน้ำติดเชื้อจากการเกา
  • หากเป็นเริมที่ปาก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อน เผ็ด และเค็ม รวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพราะจะส่งผลต่อแผลที่ปากทำให้เกิดอาการแสบ
  • ควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อเกิดตุ่งพองเป็นจำนวนมาก และมีไข้สูงภายใน 1-3 วัน
  • งดรับประทานอาหารแปรรูป เช่น ของหมัก ดอง แหนม ปลาร้า กะปิ อาหารที่ไม่สุก
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง

อ่านบทความอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • เริม https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/เริม/
  • เริม โรคเริม ( Herpes ) คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกันโรคเริม เป็นอย่างไร
  • https://www.bangkoksafeclinic.com/th/โรคเริม/
  • เริม https://www.paolohospital.com/th-th/phrapradaeng/Article/Details/Uncategorized/เริม
  • โรคเริม (Herpes Simplex) https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/herpes-simplex.html

Similar Posts