หูดหงอนไก่ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหากรู้จักป้องกัน
หูดหงอนไก่ คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) รอยโรคจะมีลักษณะก้อนหูดขนาดเล็ก ไปจนถึงใหญ่ ตำแหน่งที่มักพบได้บ่อยคือ บริเวณเยื่อบุผิวที่ตำแหน่งอวัยวะเพศ เช่น ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อหุ้มปลายองคชาต หูดหงอนไก่สามารถป้องกันได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้มีการต่อต้านเชื้อไวรัสชนิดนี้ ผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
หูดหงอนไก่มีลักษณะอาการอย่างไร ?
หูดหงอนไก่ จะมีลักษณะ เป็นตุ่มหรือแผ่นนูน นิ่มๆ คล้ายดอกกะหล่ำ สีชมพูหรือสีเดียวกับผิวหนัง ยื่นออกมาบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง ตำแหน่งพบได้บ่อย ได้แก่ ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อหุ้มปลายองคชาต โดยส่วนใหญ่แล้วหูดหงอนไก่จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือระคายเคือง เว้นแต่ในบางกรณีหูดหงอนไก่อาจสร้างความเจ็บปวดจนทำให้ต้องทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ
หูดหงอนไก่สาเหุตเกิดจากอะไร ?
สาเหตุของหูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อไวรัส (Human Papillomavirus) หรือ HPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อกันผ่านการจูบ การกอด หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันได้
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการดูลักษณะของรอยโรค เฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจตรวจยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เนื่องจากรอยโรคที่มีหลากหลายของหูดหงอนไก่อาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หูดข้าวสุก โรคผิวหนังบางชนิด ผื่นของซิฟิลิสระยะ ไปจนถึงลักษณะที่ผิดปกติของอวัยวะเพศของบางคนที่มีติ่งยื่นออกมาคล้ายหูดหงอนไก่ ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี หนองใน ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้
หูดหงอนไก่ป้องกันได้อย่างไร ?
การป้องกันหูดหงอนไก่ที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัส HPV เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งหูดหงอนไก่ และมะเร็งปากมดลูก
การรักษาหูดหงอนไก่
การรักษาหูดหงอนไก่ทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การใช้ยา
- การผ่าตัด
- การจี้เย็น
- จี้ร้อนด้วยไฟฟ้า
- ทำเลเซอร์
ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน โดยทั่วไปหูดที่มีขนาดเล็กกว่า ย่อมจัดการได้ง่ายกว่า
ขอบคุณข้อมูล : Pobpad, Medthai
หูดหงอนไก่ เมื่อเคยเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นได้อีกถึงร้อยละ 70 หลังจากหยุดการรักษาไป 6 เดือน เนื่องจากไวรัส HPV ไม่ทำให้เซลล์ตายหรือสลายไป การติดเชื้อถูกจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุ ไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง ร่างกายไม่เกิดภูมิต้านทานเหมือนโรคอื่น