ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ
โรคนี้มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่อาจนำไปสู่ความเสียหายของตับ และอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งในตับได้หากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งไวรัสตับอักเสบที่ก่อให้เกิดโรคในคนได้บ่อยๆ ประกอบด้วยไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และ อี โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเข้าไปในตับโดยแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันออกไป
ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัสบางชนิดได้ และก็เหมือนกับทุกๆ โรคที่ว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นหากเรามีโอกาสได้ตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้วพบว่ายังไม่มี การรับวัคซีนก็จะช่วยให้เราเพิ่มความมั่นใจและปลอดภัยจากโรคไวรัสตับอักเสบได้มากขึ้น
ตับอักเสบ (Hepatitis) คืออะไร
เป็นภาวะที่เซลล์ตับมีอาการอักเสบอันเกิดจากการบาดเจ็บ หรือถูกทำลาย โดยสร้างความเสียหายให้กับตับ ตั้งแต่ระดับธรรมดาไม่ร้ายแรง ไปจนถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้มีโอกาสเสียชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น สารเคมี การเสพยาเสพติด การดื่มสุรามากเกินไป หรือเชื้อไวรัสต่างๆ กระทั่งส่งผลต่อประสิทธิภาพทำงานของตับ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ข้อกระดูก และกล้ามเนื้อ รวมถึงมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้และอาเจียน เบื่ออาหาร อุจจาระมีสีซีดในขณะที่น้ำปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลือง ตัวเหลือง และมักมีอาการปวดท้องที่ใต้ชายโครงด้านขวา
โดยอาการ และความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามแต่สาเหตุและระยะเวลาของการเกิดโรค หากเข้ารับการรักษาไม่ทันการณ์ (โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการมักจะอยู่ในช่วง 180 วัน) อาการของโรคอาจจะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
โรคไวรัสตับอักเสบจะมีด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด ดังนี้
คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี โดย ไวรัสตับอักเสบบี และซี เป็นไวรัสตับอักเสบสองชนิดนี้พบได้บ่อยและทำให้เกิดการผลกระทบต่อตับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หากผู้ป่วยติดเชื้อเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนขึ้นไปจะเรียกว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง บางคนอาจไม่รู้สึกเจ็บป่วย และอาจรู้สึกปกติธรรมดาแต่อย่างไรก็ตามหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการตรวจสอบหรือไม่ได้รับการรักษาอาจจะเป็นอันตรายต่อตับ
ไวรัสตับอักเสบเอ
เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ผ่านทางการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซึ่งออกมาทางอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ ในประเทศด้อยพัฒนาจะมีการแพร่กระจายของเชื้อตับอักเสบเอ มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
ไวรัสตับอักเสบบี
เป็นเชื้อโรคตับอักเสบชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยสามารถติดต่อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย จากแม่สู่ลูก จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
ไวรัสตับอักเสบซี
เกิดจากการได้รับของเหลวจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี โดยตรง ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือติดต่อผ่านทางเลือดจากแม่สู่ลูก ประมาณกว่า 80% ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี มักป่วยเรื้อรังและเผชิญปัญหาสุขภาพระยะยาว หรืออาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้
ไวรัสตับอักเสบดี
เป็นไวรัสชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อยมาก เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี จากเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง อย่างไรก็ตาม ไวรัสตับอักเสบดีจะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้หากไม่มีไวรัสตับอักเสบบีในร่างกายอยู่ก่อนแล้ว
ไวรัสตับอักเสบอี
อาจมีการติดเชื้อชนิดนี้จากการบริโภคน้ำดื่มหรืออาหารที่มีอุจจาระที่ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ พบได้มากในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และแอฟริกา หรือในชุมชนที่มีปัญหาด้านสาธารณสุข ระบบจัดการน้ำไม่ดี น้ำดื่มปนเปื้อน หรือนิยมการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
อาการหลังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
เมื่อตับได้รับเชื้อไวรัส ก็จะเกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ มีอาการตับบวมโต ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิดดังที่กล่าวมาแล้ว เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี แต่ที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี
- อาการตับอักเสบเฉียบพลัน การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดไม่ว่าชนิดไหน อาการของการติดเชื้อก็จะคล้ายๆ กัน โดยอาการจะเป็นน้อย หรือมากมักขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ได้รับ และความแข็งแรงของผู้ป่วยก่อนได้รับเชื้อ อาการที่พบได้บ่อยมากๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ร่วมกับการมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ตับอักเสบเรื้อรัง จะเกิดจากไวรัสเพียง 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี อาการที่พบคือ รู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ้างในช่วงที่มีภาวะตับอักเสบ แต่บางช่วงก็ไม่มีอาการใดๆ เลย เชื้อไวรัสชนิดนี้จะค่อยๆ ทำลายเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็ง และเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งแพทย์สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นตับแข็ง และมะเร็งตับมักไม่มีอาการในระยะแรก แค่อาจอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่เมื่อโรคลุกลามจนอาการหนักขึ้น คนไข้มักมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวตาเหลือง ซึ่งแพทย์ก็จะต้องหาสาเหตุและรักษาให้ตรงโรคต่อไป
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบ
- โรคไวรัสตับอักเสบแพทย์จะวินิจฉัยตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ รวมถึงประวัติการใช้สารเสพติด การตรวจเลือด และการตรวจชิ้นเนื้อตับ (แพทย์อาจใช้อัลตราซาวด์เพื่อนำทางและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากตับด้วยการใช้เข็มจิ้มผ่านทางผิวหนัง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์และการอักเสบของตับในห้องปฏิบัติการต่อไป)
- โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นกรณีของโรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสและอาการตับอักเสบเฉียบพลันอื่นๆ แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือดและอาการตามที่ปรากฏ แต่หากเป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากสาเหตุอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการ ตับอักเสบเรื้อรัง การตรวจเลือดมักจะไม่ได้ผลและอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจชิ้นเนื้อตับในการวินิจฉัย
- ทั้งนี้ การวิเคราะห์ทางจุลพยาธิวิทยาจะสามารถช่วยบ่งบอกความรุนแรงและรูปแบบของอาการอักเสบ รวมถึงบริเวณที่เกิดอาการพังผืดได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะหากวินิจฉัยควบคู่ไปกับการประเมินประวัติทางด้านเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วยร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับอักเสบ
เมื่อตับของคุณไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ก็อาจนำไปสู่ภาวะตับวายได้ ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนเมื่ออยู่ในภาวะตับวาย ได้แก่ อาการเลือดออกผิดปกติ อาการท้องมาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตล้มเหลว และโรคสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy) ซึ่งทำให้เกิดความเมื่อยล้า สูญเสียความจำ และความสามารถทางจิตลดลง อันเกิดจากการสะสมของสารพิษ เช่น แอมโมเนีย ที่มีผลต่อการทำงานของสมอง
การป้องกันโรคตับอักเสบ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย
- ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- อย่านำอวัยวะส่วนที่มีบาดแผลไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคู่นอน (กรณีที่มีเพศสัมพันธ์)
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการสวมถุงยางอนามัย
- การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และบี
การรักษาโรคตับอักเสบ
ในกรณีที่เป็นโรคตับอักเสบอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี แพทย์อาจจะจะให้ยาต้านไวรัสมารับประทาน ซึ่งมีหลายชนิดและยี่ห้อ เช่น Entecavir (Baraclude) ,Tenofovir (Viread), Lamivudine (Epivir), Adefovir (Hepsera) และ Telbivudine (Tyzeka) ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถต่อสู้กับไวรัสและชะลอการทำลายเซลล์ตับ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบางชนิด จะต้องรับประทานยาอยู่เนืองๆไปตลอดชีวิต โดยไม่หายขาด แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น และยังเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลรอบข้างอีกด้วย