โรคเอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome)

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าผิดว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอด์ เป็นโรคเดียวกัน จริงๆ แล้วผู้ที่ได้รับเชื้อเชื้อเอชไอวี ระยะแรกจะยังไม่เป็นโรคเอดส์จนผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ จึงจะเรียกว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์

โรคเอดส์คืออะไร?

โรคเอดส์ (AIDS หรือ Acquired Immune Deficiency Syndromes)

  •       A = Acquired    หมายถึง สภาวะที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด
  •       I = Immune     หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานของร่างกาย
  •       D = Deficiency  หมายถึง ความเสื่อมลง
  •       S = Syndrome   หมายถึง กลุ่มอาการ หรืออาการหลาย ๆ อย่างไม่เฉพาะระบบใดระบบหนึ่ง

โรคเอดส์  คือ กลุ่มอาการของโรคฉวยโอกาส เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปจนถึงระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลง จนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย  ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส  ซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ และอาการอาจจะรุนแรงจนเสียชีวิตในที่สุด

โรคเอดส์ต่างจากการติดเชื้อ HIV อย่างไร?

การติดเชื้อ HIV กับโรคเอดส์ มีความแตกต่างกัน เพราะการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ใช่โรคแต่เป็นการที่ร่างกายได้รับไวรัสเอชไอวีเข้าไปนั้นจะยังไม่แสดงอาการรุนแรงในระยะแรก ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้วบางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ก็ทำให้ไม่ได้รับการรักษา เป็นผลทำให้การติดเชื้อเอชไอวีจากแรกเข้าสู่ระยะที่สองคือระยะเเพร่เชื้อ และเข้าสู่ระยะที่เริ่มแสดงอาการ เช่น เป็นไข้ ท้องร่วง เป็นงูสวัด ถ้าหากยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายก็จะสูงขึ้นจนไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรียกว่า ระยะเอดส์ หรือ เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

สาเหตุของโรคเอดส์

มาจากการได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ผ่านทางการรับของเหลว เช่น เลือด น้ำนมแม่ น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะได้รับผ่านจากการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งนี้การที่ไวรัสส่งผ่านทางของเหลวทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสจากแม่ไปยังลูกในครรภ์ หรือผ่านทางน้ำนม ได้เช่นกัน 

อาการของโรคเอดส์

อาการโรคเอดส์ระยะเริ่มแรก หรือเรียกระยะเฉียบพลัน

ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นอาการตอบสนองของร่างกายจากการได้รับเชื้อ

อาการโรคเอดส์ระยะสงบ

ระยะนี้ของโรคเอดส์สามารถกินเวลาเป็น 10 ปี และมีเชื้อเพิ่มขึ้นในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการออกมา แต่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้ยังคงต้องทานยาต้านเชื้อเพื่อไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคเอดส์เร็วเกินไป

อาการระยะสุดท้ายหรือระยะเอดส์

เป็นระยะที่เข้าสู่การเป็นโรคเอดส์ ซึ่งภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยถูกทำลายไปจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ มีเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 200 cumm. และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคฉวยโอกาสซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น โรคปอดอักเสบ การติดเชื้อราที่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบในปาก ช่องคลอด หรือการติดเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายกับตา ก่อเป็นวัณโรค จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

อาการท้องเสียของคนเป็นเอดส์

จะมีอาการถ่ายเหลว มีน้ำเยอะมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรืออาจมีมูกเลือดปนออกมาด้วยในบางครั้ง อาการท้องเสียมักจะเกิดร่วมกันกับอาการไข้และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

โรคเอดส์ และการติดเชื้อในกระแสเลือด

เกิดการอักเสบ และติดเชื้อในร่างกายและกระจายสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและอวัยวะภายในล้มเหลวได้

อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

เมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี หรือหากน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้หลายสัปดาห์ติดต่อกัน ท้องเสียเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือขาหนีบโต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค 

การรักษาโรคเอดส์

การรักษาโรคเอดส์ด้วยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีกับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะยังไม่มียารักษา ที่สามารถรักษาการติดเชื้อให้หายขาดได้ แต่มีผู้ป่วยโรคเอดส์เพียงไม่กี่รายที่หายจากโรคเอดส์ได้ พบว่าหลังจากหยุดรับยาต้านไวรัสก็ไม่สามารถตรวจเจอเชื้อไวรัสได้อีก ซึ่งปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การรักษาโรคเอดส์สามารถหายขาดได้ เช่น วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยากระตุ้นไวรัสเพื่อให้การทำงานของยาต้านไวรัสได้ผลมากขึ้น

อ่านบทความอื่นๆ

Similar Posts