เริมที่ปาก ติดต่อกันได้หากไม่ระวัง !!

เริมที่ปาก ติดต่อกันได้หากไม่ระวัง !!

เริมที่ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ส่งผลให้เกิดตุ่มน้ำขนาดเล็กบริเวณปาก หรือรอบ ๆ ริมฝีปาก ในลักษณะกระจุกตัวกัน บางรายอาจเกิดภายในช่องปากร่วมด้วย และมักส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ แม้กระทั่งการดื่มน้ำแก้วเดียวกันก็มีโอกาสติดต่อกันได้หากไม่ระวัง !!

อาการเริมที่ปาก

อาการของเริมที่ปาก เมื่อได้รับเชื้อไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จะรู้สึกแสบร้อน มีรอยแดง และคันบริเวณที่ติดเชื้อก่อนจะมีแผล หลังจากนั้นจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มบริเวณ ปาก รอบปาก ในช่องปาก อาจมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวมร่วมด้วย แต่แผลเหล่านี้จะตกสะเก็ด และหายไปได้เองได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์

เริมที่ปากติดต่อกันได้อย่างไร ?

เริมที่ปาก ติดต่อกันได้อย่างไร

เริมที่ปาก สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำลาย สารคัดหลั่ง อสุจิ น้ำเหลือง เยื่อบุปาก บาดแผลบนผิวหนัง การจูบ การทำออรัลเซ็กส์ การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น มีดโกน ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งนี้ เริมที่ปากหากรักษาหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

การวินิจฉัยเริมที่ปาก

การวินิจฉัยเริมที่ปาก แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจอาการ และตรวจดูลักษณะของตุ่มน้ำใสหรือแผลพุพอง จากนั้นจะทำการทดสอบทางแล็บปฏิบัติการ เช่น การทดสอบ PCR Test โดยการตรวจตัวอย่างเลือดหรือเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลผ่านการส่องกล้อง การเพาะเชื้อ และตรวจแอนติบอดี้ในร่างกายเพื่อวัดระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus ที่เป็นสาเหตุของเริม

ปัจจัยที่ทำให้เริมที่ปาก กลับมาเป็นซ้ำ

  • ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระหว่างมีประจำเดือน
  • อากาศร้อน การอยู่ท่ามกลางแสงแดด
  • ความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์

การป้องกันเริมที่ปาก

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล สารคัดหลั่ง ของผู้ที่ติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า แก้วน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัด
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อทำออรัลเซ็กส์
  • ตรวจเลือดเป็นประจำทุกปีเพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันร่างกาย

นอกจากนี้ การทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเริมได้

เริมที่ปากรักษาอย่างไร ?

เริมที่ปาก รักษาอย่างไร

เริมที่ปาก สามารถรักษาให้หายได้(แต่ไม่หายขาด) ในปัจจุบันทำได้เพียงบรรเทาอาการและทำให้แผลหายเร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาเริม และอาจช่วยบรรเทาอาการรุนแรงได้ นอกจากทานยาตามที่แพทย์ให้มาอย่างครบถ้วนแล้ว การดูแลแผลให้ถูกต้องจะช่วยให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย

อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูล : hellokhunmor

เริมที่ปาก แม้จะไม่ใช่โรคที่มีความอันตราย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็­­­­นซ้ำได้ หากไม่ระมัดระวังให้ดี ฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ควรรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ