การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน
เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) คือ ไวรัสที่จะเข้าไปกัดกินทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome – AIDS) คือ กลุ่มอาการของการติดเชื้อโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่งกายถูกเชื้อเอชไอวีทำลายจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเหล่านี้ได้
การติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องมีอาการเอดส์ หากรู้เร็วด้วย การตรวจเลือด และรักษาเร็วด้วยยาต้านไวรัส
โดยสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด คือ ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ สัมผัสเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่น้ำนมแม่ก็สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน
การติดเชื้อเอชไอวีแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
1) ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน คือ ระยะที่รับเชื้อมาใหม่ๆ หรือช่วงระหว่าง 2-4 สัปดาห์ หลังจากติดเชื้อมา โดยผู้ติดเชื้อบางส่วนจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มีอาการ มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่น และปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า acute retroviral syndrome หรือ ARS เป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี
2) ระยะไม่ปรากฏอาการ คือ เป็นระยะที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นได้ง่ายโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ อาจอยู่ในระยะนี้นานถึง 10 ปี
3) ระยะมีอาการ คือ ในระยะนี้จะมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานหลายเดือน มีเชื้อราบริเวณในปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุเกิน 1 เดือน เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด และอื่น ๆ ในระยะนี้อาจมีอาการอยู่เป็นปี ก่อนพัฒนาลุกลามกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้นในระยะต่อไป
4) ระยะเอดส์ คือ ในระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปเยอะมาก ซึ่งทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และร่างกายก็ไม่สามารถขจัดเชื้อโรคเหล่านี้ออกไปจากร่างกายได้ ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อชนิดใด และเกิดขึ้นบริเวิณอวัยวะส่วนใดของร่างกาย เช่น หากติดเชื้อวัณโรคที่ปอด อาการที่พบจะมีไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรวดแรง อาเจียน คอแข็ง คลื่นไส้ และถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทก็จะมีอาการซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม หรือที่รวมเรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น
แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน
คือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีเท่านั้น เพราะช่วยในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด เมื่อจำนวนเชื้อลดลง ร่างกายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น โอกาสในการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสจึงลดลง เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากสามารถทำงานและดำรงชีวิตตามปกติได้ และการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสก็เป็นไปได้น้อย จึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับยาต้านเอชไอวีอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกันเป็นสูตรยา แต่มีหลักการรักษา คือ ผู้ติดเชื้อต้องกินยาให้ตรงเวลาทุกวันต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะยาจะไปทำการยับยั้งการแบ่งตัวและการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ถ้าหยุดกินเมื่อไหร่ก็จะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและแพร่กระจาย
ยาต้านไวรัสเอชไอวีคืออะไร
ยาต้านไวรัส คือ ยาที่ใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มีการใช้ใน 2 ลักษณะ คือ ทั้งในช่วงก่อนหรือหลังจากการสัมผัสเชื้อ HIV สำหรับยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อนั้น เรียกว่ายา PrEP ซึ่งย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis (ยาต้านก่อนเสี่ยง) และยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อนั้น เรียกว่ายา PEP โดยย่อมาจาก Post -Exposure Prophylaxis (ยาต้านฉุกเฉิน)
ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี
ประเภทของยาต้านหรือยารักษาเอชไอวี
ปัจจุบันยาต้านไวรัส HIVที่ใช้กันนั้น มีกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม
- กลุ่มแรก คือ nucleoside reverse transcriptase inhibitors (RTIs) ยกตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น AZT (Retrovir), DDI (Videx), DDC (Hivid), 3TC (Epivir), และ D4T (Zerit)
- กลุ่มที่สอง คือ protease inhibitors (PIs) เช่น Indinavir (Crixivan), Nelfinavir (Viracept), Ritonavir (Norvir), Saquinavir
- กลุ่มที่สาม คือ non-nucleoside reverse transcriptase มียาที่ใช้อยู่ เช่น Delavirdine (Rescriptor), Efavirenz (Sustiva), Nevirapine (Viramune)
การรักษาด้วยยาต้านไวรัส
ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีด้วยกันหลายชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป การเลือกใช้ยาจะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแบบแผนการรักษาที่จะให้ผลดี และช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ จะต้องใช้ยา 3 ตัวรวมกันหรือมากกว่า ที่เรียกว่า Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) การรักษาด้วยวิธีนี้ ช่วยยับยั้งไวรัสและป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคเอดส์ หรือจะทำให้อัตราป่วยจากโรคแทรกซ้อน และอัตราการตายของผู้ป่วยเอดส์ ลดลงได้อย่างมาก ถึงแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ใครบ้างควรรับยาต้านไวรัส HIV
เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคเอดส์ เซลล์ CD4 ลดลง มีปริมาณเชื้อมาก (viral load) การรักษาผู้ป่วยจะแยกเป็นกรณี ดังนี้
- การรักษาหลังสัมผัสโรคติดเชื้อเอชไอวี ( Post-Exposure Prophylaxis) ผู้ที่ได้รับสัมผัสเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง การให้ยาแก่คนที่สัมผัสโรคสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ โดยผู้ที่สัมผัสโรคต้องปรึกษากับแพทย์ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ให้ยา และจะให้ยานานแค่ไหน ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง
- Primary Infection หมายถึงภาวะตั้งแต่เริ่มได้รับเชื้อจนกระทั้งภูมิต่อเชื้อเอชไอวี เพิ่มจนสามารถตรวจพบได้ ระยะนี้มีเวลาประมาณ 12-20 สัปดาห์ หากพบผู้ป่วยระยะนี้ต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าให้รับประทานตลอดชีวิต แต่บางท่านแนะนำให้รับประทานยา 24 เดือนแล้วลองหยุดยา
- ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Patients with Established Infection ) การรักษาผู้ที่ติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ แต่ก็มีคำแนะนำในการรักษาตามตารางข้างล่าง
กินยาต้านฯอย่างไร ให้ได้ผลดี
- กินยาตรงเวลา ทุกมื้อ และทุกวัน
- อย่าเปลี่ยนยาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่าปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ยาก ควรปรึกษาแพทย์
- หากจะใช้ยาอื่นนอกเหนือที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
- ควรกินอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดยาระยะหนึ่งแล้วมากินต่อ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา การรักษาจะยิ่งยากมากขึ้น
- ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ “ ทุก 24 ชั่วโมง ” จะกินเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
- ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เป็นยาที่กินก่อนนอน และต้องกินเวลาเดียวกันทุกวัน
- ยาที่กินวันละ 2 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ “ ทุก 12 ชั่วโมง ” หรือ “ เช้า-เย็น ”
- นอกจากตรงเวลาแล้ว ยาบางชนิดจำเป็นต้องสัมพันธ์กับอาหารด้วย เช่น ยาก่อนอาหาร ต้องกินตอนท้องว่าง หรือกินก่อนอาหารหนึ่งชั่วโมง เพราะจะช่วยให้ยาดูดซึมได้ดี
- กรณีที่ผู้ป่วยจัดยากินเองไม่ได้ ญาติก็สามารถช่วยจัดยาเตรียมไว้ให้ได้ โดยใส่กล่องแบ่งยา หรือซองแบ่งยา
ยาต้านไวรัสเอชไอวีรับได้ที่ไหน
ยาต้านไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา เพื่อความปลอดภัย และลดผลข้างเคียงที่อาจจะตามมาได้หลังจากการรับยา
ยาต้านไวรัสเอชไอวีราคา
- PEP (30 tablets) ราคา 2,500 – 18,200 บาท
- PrEP (30 tablets) ราคา 1,000 – 3,200 บาท
ทำไมการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจึงไม่ได้ผล?
เนื่องจากการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ต้องใช้เวลาในการรักษาระยะยาว ปัญหาที่พบคือ
- ผลข้างเคียงจากยาต้านเอชไอวี บางรายพบผลข้างเคียงระยะสั้น บางรายพบผลข้างเคียงระยะยาว แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องติดตามอาการ และผลการรักษาเป็นระยะๆ มีการเจาะเลือดทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา ในกรณีที่พบผลข้างเคียงของยาต้านเอชไอวีและผู้ติดเชื้อไม่สามารถทนต่อยานั้นๆ ได้ แพทย์ก็จะทำการปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อแต่ละรายต่อไป
- ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV กับการทานยาต้านให้ตรงเวลานั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยรักษาระดับยาจะให้คงที่ในกระแสเลือด ช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสไม่เพิ่มจำนวน ลดผลข้างเคียงและโอกาสการดื้อยาในอนาคต ดังนั้นหากทานยาต้านไม่ตรงเวลา หรือขาดยา ก็อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล
อ่านบทความอื่นๆ
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- ไขความเข้าใจผิดของ เอชไอวี กับ เอดส์ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/
- การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กับแนวทางการรักษาในปัจจุบันhttps://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/25aug2020-1352
- ยาต้านไวรัส HIV แบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร รับได้ที่ไหนhttps://www.bangkoksafeclinic.com/th/arv/