เคล็ดลับห่างไกลจาก โรค HPV

เคล็ดลับห่างไกลจาก โรค HPV

โรค HPV มีเคล็ดลับในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ ได้แก่ หูดที่อวัยวะเพศ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งในช่องปาก เป็นต้น การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ในบทความนี้ เราจะอธิบายถึงมาตรการป้องกันเพื่อที่จะสามารถลดความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสเอชพีวีได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด

โรค HPV คืออะไร

ไวรัสเอชพีวี ย่อมาจาก Human Papilloma Virus เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่บริเวณเนื้อเยื่อบุผิว และก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีอยู่ในร่างกาย มักไม่มีอาการแสดงใดๆ จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบเชื้อชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18

HPV เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิดโดย HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • HPV ชนิดก่อมะเร็ง: มี 14 สายพันธุ์ ทําให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33
  • HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง: ไม่ได้ทําให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น HPV 6 และ 11
คนที่เสี่ยงต่อการเป็น โรค HPV

คนที่เสี่ยงต่อการติดไวรัสเอชพีวี คือ

  • คนที่มีคู่นอนที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีมาก่อน
  • คนที่ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ
  • คนที่มีระบบภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอ
  • คนที่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์และไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
  • คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ขาดสติ

ความสัมพันธ์ของไวรัสเอชพีวี และมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก หากไม่ได้รับการตรวจพบ และรักษาได้ทันเวลา อาจเกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอวัยวะสําคัญภายในช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ลําไส้ ทําให้ยากแก่การรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

พฤติกรรมที่ช่วยให้ห่างไกลโรค HPV

นอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่นำไปสู่โรคร้ายอื่นๆ อีกเพียบ พฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตก็มีผลต่อโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารมันและสารเคมีปนเปื้อนม่สูบบุหรี่ เคี้ยวยาเส้น ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มมึนเมา
  • ปกป้องตัวเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด
  • หาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรคมะเร็ง เพราะการที่เซลล์ในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลานานนับปีกว่าอาการของโรคจะรุนแรงขึ้นเป็นลําดับจนถึงขั้นสุดท้ายที่รักษาไม่ได้

หากเราดูแลหมั่นสังเกตตัวเองแต่เนิ่นๆ เราก็จะมีโอกาสค้นพบและกําจัดความผิดปกตินี้ ได้ก่อนที่เชื้อจะเติบโตเป็นเนื้อร้ายและกระจายไปทั่วร่างกายของเรา

วิธีลดความเสี่ยง โรค HPV

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้
  • การมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
วิธีลดความเสี่ยง โรค HPV

การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ โรค HPV

HPV Vaccine เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human Papilloma virus หรือ HPV ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดมะเร็งปากมดลูกซึ่งติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ โดยไวรัส HPV แบ่งออกเป็น สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (high risk HPV) ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 45, 52, 58 และสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk HPV) ที่ก่อให้เกิดโรคหูด เช่น สายพันธุ์ 6 ,11

หลังฉีด HPV Vaccine แล้วสามารถป้องกันโรคได้นานกว่า 10 ปี และจากข้อมูลพบว่าหลังจาก 10 ปี วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ไวรัสตับอักเสบบี มีสาเหตุมาจากอะไร?

เริมที่อวัยวะเพศรักษาอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองให้ห่างจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรมีชีวิตครอบครัวที่ถูกต้องและจะต้องเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้จะมีอายุมากแล้วและไม่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือไม่มีประจำเดือนและไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังต้องตรวจคัดกรองตามระยะเวลาที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะช่วยให้หญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูกได้ครับ

Similar Posts