|

ไวรัสตับอักเสบบี มีสาเหตุมาจากอะไร?

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ยังถูกพบจำนวนมาก ในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่โรคร้ายแรงต่อตับของร่างกาย ได้แก่ โรคมะเร็งตับ โรคตับแข็ง และโรคตับวาย เป็นต้น ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองติดไวรัสตับอักเสบบีอยู่ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าโรคชนิดนี้มีสาเหตุมาจากอะไร โดยบทความนี้จะแสดงรายละเอียดถึงโรคไวรัสตับอักเสบบีทั้งหมด

รู้จักไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือภาษาอังกฤษว่า Hepatitis B virus : HBV เมื่อผู้ติดเชื้อได้รับไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ การทำงานของตับเสื่อมลงเพราะเกิดพังผืดค่อยๆ เกาะหลายปี อันส่งผลให้มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับร้อยละ 90 มีประวัติเคยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบมาก่อน

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี

ความเป็นจริง โรคไวรัสตับอักเสบบี ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะมีอาการแสดงออกมาให้เห็นชัดๆ หรือในบางรายจะเข้าสู่ระยะอาการแบบเฉียบพลันเท่านั้น และอาการส่วนใหญ่ที่สามารถสังเกตได้ คือ

  • มีไข้เล็กน้อย รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร
  • เจ็บบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
  • ปวดเมื่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

ประมาณ 10-20% ของคนที่ติดเชื้อไวรัสอักเสบบีจะหายจากโรคไปได้เอง เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล หากเข้าสู่ระยะเรื้อรังแล้ว

ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อกันอย่างไร

เชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะสามารถติดต่อกันผ่านทางเลือด และสารคัดหลั่งของมนุษย์เป็นหลัก การที่จะรู้ได้ว่าคุณติดเชื้อแล้วหรือไม่ จะต้องมีการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจ HBsAg เป็นการตรวจหาแอนติเจน (Antigen) ของไวรัสตับอักเสบบี เพื่อบ่งบอกถึงการติดเชื้อโดยตรง
  • การตรวจ HBeAg เป็นการตรวจหาระยะการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี หากพบเชื้อจะหมายถึงผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยง ที่จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้สูง
  • การตรวจ HBV-DNA ใช้ตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบีว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์จะนำไปวินิจฉัยในการรักษาร่วมด้วย
  • การตรวจ Anti-HBc ตรวจเพื่อค้นหาว่าคุณเคยติดไวรัสตับอักเสบบีมาก่อนหรือไม่ ด้วยการหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อเชื้อ
  • การตรวจ Anti-HBs ตรวจเพื่อค้นหาว่าคุณมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ หรือใช้ตรวจสำหรับคนที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีมาแล้ว

ความเสี่ยงเหล่านี้ อาจทำให้คุณติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี ได้

  • การใช้เข็มฉีดยา และของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • การรับเลือดบริจาคที่ไม่ผ่านการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี
  • ทารกน้อยที่คลอดจากครรภ์มารดาที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี
  • การเจาะหรือสักตามร่างกายกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อที่ถูกวิธี
  • บุคลากรทางการแพทย์ โดนเข็มที่มีเชื้อทิ่มตำ หรือมีดผ่าตัดมีเชื้อบาดมือ

ไวรัสตับอักเสบบี หายขาดหรือไม่

โรคนี้สามารถหายขาดได้ หากตรวจพบเชื้ออย่างรวดเร็ว หรืออยู่ในระยะอาการแบบเฉียบพลัน เฉลี่ยใช้เวลาในการรักษาประมาณ 3 เดือน แต่สำหรับในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีระยะอาการตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนในการรักษาอย่างรอบคอบต่อไป ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจคัดกรองโรคที่เกี่ยวข้องกับตับปีละ 1 ครั้ง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากตรวจแล้วยังไม่มีภูมิ
ป้องกันโรค ไวรัสตับอักเสบบี

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

วิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีได้อย่างเห็นผลมากที่สุด คือ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับเชื้อตัวนี้ได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสอักเสบบีตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และ 6-18 เดือน โดยจะฉีดให้ทั้งหมดจำนวน 3 เข็มด้วยกัน ในวัยรุ่หรือวัยผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิก็จำเป็นจะต้องฉีดจำนวนที่เท่ากันด้วย เมื่อฉีดวัคซีน ครบถ้วนตามเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว ฤทธิ์ของวัคซีนจะมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงถึง 90-95 % เลยทีเดียว

ถึงแม้ว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี จะเป็นโรคที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่หากเราเข้าใจถึงต้นตอของการแพร่เชื้อ ก็จะช่วยป้องกันทั้งตัวคุณเอง และคนที่คุณรักไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ หรือหากพบเชื้ออยู่ก่อนแล้วก็จะช่วยให้ได้ทำการรักษาทันที ลดโอกาสการเจ็บป่วย และลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถหายขาดได้ ถ้ารู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Similar Posts