หนองใน (Gonorrhea) | โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง
หนองใน (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ส่วนใหญ่ติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันโดยไม่ได้ป้องกัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะแสบขัด หนองจากอวัยวะเพศ หรือมีตกขาวผิดปกติออกมาทางช่องคลอด หนองในสามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้การติดเชื้อลุกลามหรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งหนองในแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- หนองในแท้
- หนองในเทียม
การวินิจฉัยหนองใน
หนองใน สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะส่งเพาะเชื้อ แต่หากมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือมีอาการแสดงบริเวณช่องปากหรือลำคอ อาจเก็บตัวอย่างจากลำคอ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือมีอาการแสดงบริเวณทวารหนัก อาจเก็บตัวอย่างจากทวารหนัก หากมีอาการหนองในแสดงบริเวณอวัยวะเพศ อาจเก็บตัวอย่างจากปลายองคชาต หรือบริเวณปากมดลูก
อาการหนองใน
อาการในเพศชาย
- ปัสสาวะแสบขัด รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ
- มีหนองสีขาว เหลือง หรือเขียวออกจากปลายองคชาต
- มีอาการปวดหรืออัณฑะบวมขึ้น (พบได้น้อย)
อาการในเพศหญิง
- ปัสสาวะแสบขัด รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ
- ตกขาวเพิ่มขึ้น มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ
- เลือดออกทางช่องคลอดระหว่างรอบเดือน
การติดเชื้อทางทวารหนัก
- มีหนอง มีเลือดออก ทางทวารหนัก
- คันบริเวณรอบรูทวารหนัก
- แสบร้อน
- ปวดบิดท้องหรือทวารหนัก
หนองในแท้และหนองในเทียม ต่างกันอย่างไร ?
- หนองในแท้ | เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า “ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhea)” สามารถติดต่อได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง รวมถึงทารกแรกเกิด มีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 1 – 10 วัน
- หนองในเทียม | เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis)” สามารถติดต่อได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเช่นกัน มีระยะฟักตัวนานกว่าหนองในแท้ คือ มากกว่า 10 วันขึ้นไป
การป้องกันหนองใน
- ตรวจคัดกรองหนองในเป็นประจำ
- สวม ถุงยางอนามัย ทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- เข้ารับการตรวจทันที หากพบว่า ตัวเองเสี่ยง หรือมีอาการคล้ายเป็นหนองใน
การรักษาหนองใน
หนองในสามารถรักษาได้ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงใช้การรักษาอื่นๆควบคู่เพื่อบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนของโรค หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็ว สามารถหายได้เร็ว แต่อาการความเสียหายของเนื้อเยื่อต้องใช้เวลาให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง สำหรับผู้ติดเชื้อหนองใน แพทย์จำเป็นต้องตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น เอชไอวี(HIV), ซิฟิลิส(Syphilis)
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
ถึงแม้ว่า “หนองใน” จะสามารถรักษาได้ แต่จะดีกว่าไหมหากเรารู้จักป้องกันไว้ก่อนไม่ให้เกิดโรค โดยการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยเพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเข้ารับการตรวจคัดกรองหนองในเป็นประจำทุกปี