แผลริมอ่อน (Chancroid)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน
โรคแผลริมอ่อน (Chancroid) คืออะไร
แผลริมอ่อน หรือ ซิฟิลิสเทียม (Chancroid, Soft chancre, Ulcus molle หรือ Weicher Schanker) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง จะทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศ และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ซึ่งโรคนี้ติดต่อได้ง่าย แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง หากไม่รักษาจะเป็นสาเหตให้เกิดการติดเชื้อ HIV ได้ง่าย
หมายเหตุ โรคแผลริมอ่อน บางครั้งเรียกว่า โรคซิฟิลิสเทียม เนื่องจากทำให้เกิดแผลได้เช่นเดียวกันกับโรคซิฟิลิส แต่จะแตกต่างกันตรงที่แผลริมอ่อน (ซิฟิลิสเทียม) จะมีอาการเจ็บ และปวด แต่แผลซิฟิลิสจะไม่เจ็บและปวด
ระยะฟักตัวของโรค
หลังจากที่ได้รับเชื้อ อยู่ในช่วง 1 วัน-2 สัปดาห์ แต่เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมา
สาเหตุของแผลริมอ่อน
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) โดยเชื้อชนิดนี้จำนวนมากจะอยู่ที่หนอง และจะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยถลอกทางผิวหนัง จากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ (HdCDT) ขึ้นมาทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ และมีหนองไหล ทำให้หากสัมผัสโดนของเหลวจากแผลโดยตรง ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผลหรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิงโดยปกติ
เชื้อชนิดนี้มักระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือถิ่นที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่สะอาดเพียงพอ จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อในระหว่างที่พักอาศัยหรือท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้
อาการของแผลริมอ่อน
อาการของโรคแผลริมอ่อนในผู้ชาย
- อาจมีตุ่มนูนสีแดงเล็กๆ ขึ้นบนอวัยวะเพศหนังหุ้มปลายองคชาต และถุงอัณฑะ ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นแผลเปื่อยภายใน 1-2 วัน และแผลอาจก่อตัวขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของอวัยวะเพศก็ได้ ซึ่งรวมไปถึงองคชาต หรือถุงอัณฑะด้วย
- เมื่อเกิดแผล ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อน และเจ็บปวดที่บริเวณแผลมาก
อาการของโรคแผลริมอ่อนในผู้หญิง
- อาจมีตุ่มสีแดง มากกว่าเพศชาย และแผลบวมแดง บนแคมนอก หรือระหว่างแคมนอก รูทวาร หรือบนต้นขา และเพราะแคมนอกเป็นรอยพับของผิวที่ปกคลุมอวัยวะเพศหญิงเอาไว้ ต้นขา ขาหนีบ ปากมดลูก หรือลุกลามไปจนถึงบริเวณทวารหนัก หลังจากที่ตุ่มกลายมาเป็นแผลเปื่อยหรือแผลเปิดแล้ว
- อาจรู้สึกอาการคัน แสบร้อน หรือเจ็บในระหว่างที่ขับปัสสาวะหรืออุจจาระ
- อาจมีตกขาวมากและกลิ่นรุนแรง
- ผู้หญิงที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อโรคแก่ผู้อื่นได้ จึงทำให้ผู้หญิงมักสังเกตอาการได้ค่อนข้างยากกว่าผู้ชาย เนื่องจากลักษณะโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น
อาการดังที่จะพบได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง
- แผลสามารถมีขนาดแตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1/8 นิ้ว-2 นิ้ว (3 มิลลิเมตร-5 เซนติเมตร)
- แผลมีจุดกึ่งกลางที่นิ่ม และเป็นได้ตั้งแต่สีเทาไปจนถึงสีเทาอมเหลือง อีกทั้งมีขอบที่ชัดและแหลม
- บริเวณแผลมีอาการปวดมาก
- ตำแหน่งของแผลอาจเกิดได้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศ
- เมื่อสัมผัสหรือเสียดสีอาจทำให้เลือดออกที่แผลได้ง่าย
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ ขณะที่ปัสสาวะ หรืออุจจาระ
- บริเวณขาหนีบอาจบวมขึ้น
- ต่อมน้ำเหลืองที่บวมสามารถผ่านเข้าไปยังผิว และทำให้เกิดฝีหรือหนองขนาดใหญ่ได้
- หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลจะลุกลามไปมาก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นมากจนอวัยวะเพศแหว่งหายได้
การวินิจฉัยแผลริมอ่อน
- การซักประวัติเพื่อสอบถามเกี่ยวกับลักษณะของแผล ระยะเวลาที่เกิดแผล ผู้ป่วยมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่
- การตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะของแผล และตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น
- การป้ายหนองมาย้อมสีแกรม (Gram stain) เพื่อตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยแบบคร่าว ๆ ถ้าเป็นเชื้อ Haemophilus ducreyi จะย้อมติดเป็นสีแดง ลักษณะเป็นแท่งสั้น ๆ (Coc cobacilli) และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายฝูงปลาว่ายตามกันไปที่เรียกว่า School of Fish
- การส่งหนองหรือน้ำเหลืองจากแผลไปเพาะเชื้อ เป็นวิธีที่มีความแม่นยำต่ำ การเพาะเลี้ยงเชื้อทำได้ยาก เพราะเชื้อนี้เจริญในสภาพที่ไร้ออกซิเจน
- การตรวจ Polymerase chain reaction (PCR) ที่มีความไว 96-100% เป็นการวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีราคาแพงและต้องใช้เวลา
- การตรวจด้วย Immunochromatography แต่ก็มีความไวต่ำ
- ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัยแผลริมอ่อนไว้ดังนี้ (ต้องมีครบ 5 ข้อ)
- มีแผลเจ็บที่อวัยวะเพศ
- ตรวจหนองที่แผลด้วยกล้อง Darkfield ไม่พบเชื้อซิฟิลิส
- การตรวจ VDRL หลังเกิดแผล 7 วันให้ผลลบ
- ไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อเริม
- อาการของโรคเข้าได้กับแผลริมอ่อน คือ เกิดแผลเร็วภายใน 7 วันหลังรับเชื้อ แผลเจ็บ มีหนองมาก ไม่หายเอง มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ย้อมสีแกรมพบแบคทีเรียแกรมลบตามลักษณะที่กล่าวมา
นอกจากนั้นแพทย์จะแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
การรักษาแผลริมอ่อน
แผลริมอ่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง และไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำซาก (หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา) และช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้นและลดรอยแผลเป็น แต่ในบางรายที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาขนานใดขนานหนึ่งดังต่อไปนี้
- อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1 กรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
- โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ขนาด 400 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
- เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน
- ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แต่ยานี้ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตร
ในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตมากจนเป็นหนอง แพทย์อาจใช้เข็มดูดเอาหนองออก หรือทำการผ่าฝีหนองออก
แผลมากจะดีขึ้นใน 3-7 วัน ระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับขนาดของแผล แผลที่มีขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่เกิดการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยอาจตอบสนองต่อยาได้ช้าลง และบางรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลภายใน 7 วัน อาจจำเป็นต้องวินิจฉัยโรคใหม่อีกครั้ง
โรคแผลริมอ่อน บางครั้งอาจแยกออกจากซิฟิลิสได้ไม่ชัดเจน ถ้าผู้ป่วยรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือสงสัยว่าเป็นซิฟิลิสควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ชัด
แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว หลังจากวันที่เข้ารับการรักษาเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ป่วยควรไปเจาะเลือดตรวจหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวีด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคซิฟิลิสหรือติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
การป้องกันแผลริมอ่อน
- หากเป็นแผลที่อวัยวะเพศควรงดการมีเพศสัมพันธ์
- ควรสวมถุงยางป้องกันทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์
- ไม่สำส่อนทางเพศ ถ้าจะหลับนอนกับคนที่สงสัยว่าเป็นโรคก็ควรจะสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- ผู้ที่เป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ หรือในรายที่คาดว่าได้รับเชื้อควรงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 10 วัน และไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันการเกิดโรคแผลริมอ่อนได้ดีที่สุด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
- ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ (ฟอกล้างด้วยสบู่) หลังการมีเพศสัมพันธ์เสมอ (การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย)
- การกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษา ซึ่งดูแล้วจะไม่คุ้ม สู้รอให้มีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้
- หมั่นออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุทำให้ขาดสติ จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิดเพิ่มขึ้น และจนกว่าแผลจะหายดี
อ่านบทความอื่นๆ
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- แผลริมอ่อน https://www.pobpad.com/แผลริมอ่อน
- แผลริมอ่อน https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/แผลริมอ่อน/
- แผลริมอ่อน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคแผลริมอ่อน 7 วิธี !! https://medthai.com/แผลริมอ่อน/
- แผลริมอ่อน (CHANCROID) คืออะไร เกิดจากอะไร รักษายังไง https://www.pulse-clinic.com/th/chancroid