การตรวจเอชไอวี
หากพูดถึง การตรวจเอชไอวี (HIV) หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าการตรวจเอชไอวี (HIV) นั้นยุ่งยาก ทำให้ไม่กล้ามาตรวจเพราะกลัว แต่จริงๆ แล้วการตรวจเอชไอวี HIV นั้นง่ายมาก เพียงแค่เจาะเลือดและรู้ผลได้เร็ว ที่สำคัญคนไทยทุกคน มีสิทธิตรวจฟรีถึงปีละ 2 ครั้ง แม้แต่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองอีกด้วยทำให้การตรวจเอชไอวี (HIV) นั้นง่ายและสะดวกกว่าเดิม
เอชไอวี คืออะไร?
เอชไอวี ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus คำว่า “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” หมายความว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆและทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายของคนเราสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่างๆได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเรื่อยๆ ในที่สุดทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วีจะไม่สามารถต้านการติดเชื้อต่างๆได้ เช่น วัณโรคหรือมะเร็ง: เราเรียกภาวะนี้เรียกว่า ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์
ระยะของการติดเชื้อเอชไอวี
การติดเชื้อเอชไอวีมีทั้งหมด 3 ระยะ โดยแต่ละระยะมีอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ระยะเฉียบพลัน เป็นระยะที่เกิดขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีเชื้ออยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก และแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย ในช่วงแรกอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายจากการติดเชื้อ โดยอาจมีอาการดังนี้
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลียมากผิดปกติ
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- มีผื่นแดงและนูนที่ผิวหนัง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ระยะอาการสงบ เป็นระยะที่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนของเชื้ออยู่ในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็น แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หากไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้ ระยะอาการสงบนี้อาจเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล เพราะผู้ป่วยในระยะอาการสงบบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมอาการและลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
- ระยะเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) หากผู้ป่วยไม่รับประทานยาหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เชื้อเอชไอวีเพิ่มจำนวนขึ้นและทำลายภูมิคุ้มกัน เป็นเหตุให้อาการของผู้ป่วยเข้าสู่ระยะเอดส์ซึ่งเป็นระยะที่มีความรุนแรงที่สุดในการติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยอาการในระยะเอดส์ที่มักพบ มีดังต่อไปนี้
- มีอาการหนาวสั่น และเหงื่อออกในเวลากลางคืน
- มีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นเวลานาน
- มีจุดสีขาวภายในช่องปาก
- เกิดผื่นสีน้ำตาล แดง ม่วงหรือชมพู
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- มีแผลบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ
- มีอาการไออย่างต่อเนื่องและมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- ปอดบวม
- ปวดศีรษะเรื้อรัง
- มีปัญหาเรื่องความจำ
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่ระยะเอดส์ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่รักษาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเข้าสู่ระยะเอดส์ประมาณ 3 ปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี
การตรวจเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเราได้รับเชื้อหรือไม่ หากไม่ได้รับเชื้อจะได้รู้สึกสบายใจ แต่หากพบว่าตัวเองเสี่ยงติดเชื้อจะได้สามารถรักษาอาการได้โดยเร็ว โดยกลุ่มคนที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี ได้แก่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดโดยแม่ที่มีความเสี่ยง และ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี
ขั้นตอนที่ 1
หากพบว่าตัวเอง หรือ คนใกล้เคียงมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ให้รีบติดต่อโรงพยาบาล หรือ คลินิคนิรนาม เพื่อเข้ารับการตรวจ
ขั้นตอนที่ 2
เมื่อเดินทางไปถึงสถานที่ตรวจ ทางสถานตรวจจะมีการพาเข้าไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพูดคุยประเมินความเสี่ยง และเซ็นชื่อในใบยินยอมเพื่อตรวจเอชไอวี โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
ขั้นตอนที่ 3
ทางแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะมีการพิจารณาว่าคุณมีความเสี่ยงมากี่วันแล้ว และเหมาะสมที่จะเข้ารับการตรวจโดยรูปแบบใด โดยทุกวิธีที่มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจเอชไอวี ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ
ขั้นตอนที่ 4
ฟังผลการตรวจ ซึ่งระยะเวลาโดยส่วนใหญ่จะสามารถทราบภายในวันที่เดินทางเข้ารับการตรวจ ขึ้นอยู่กับสถานที่รับการตรวจ
ขั้นตอนที่ 5
ในขั้นตอนสุดท้ายทางแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ จะให้คำแนะนำในกรณีที่
- ผลเลือดเป็นลบ หรือ non-reactive แสดงว่าผู้เข้ารับการตรวจไม่มีเชื้อ หรืออาจยังไม่พบเชื้อ เนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว แนะนำให้มาตรวจซ้ำอีกครั้งในระยะ 3-6 เดือน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ผลเลือดเป็นบวก หรือ reactive เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และส่งต่อเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาและรับยาต่อไป ซึ่งสามารถใช้สิทธิการรักษาและส่งต่อเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาและรับยาได้ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนตามสิทธิ (ประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพ)
การตรวจเอชไอวีมีกี่แบบ
ในปัจจุบันที่นิยมตรวจกันจะมีทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ
- การตรวจแบบ Anti-HIV สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในช่วงระยะเวลานานกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา โดยการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (antibody) ของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองการที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย สามารถให้ผลได้ใน 1-2 ชั่วโมงหลังการตรวจ ซึ่งผลที่ได้จะเป็นผลที่ย้อนหลังไปประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้
- การตรวจแบบ NAT (Nucleic Acid Testing) การหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี หรือแกนในของเชื้อ เป็นวิธีที่มีความไวที่สุด สามารถชี้วัดผลจากร่างกายย้อนหลังไปประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับความเสี่ยง วิธีนี้ใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิต แต่ยังไม่นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานพยาบาล
- การตรวจแบบ Rapid HIV Test ใช้เวลาในการรอผลเพียง 20 นาทีเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะได้ผลตรวจที่เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ แต่ก็เป็นเพียงการตรวจเพื่อคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น แม้ว่าผลตรวจจะออกมาเป็นบวก (พบเชื้อ HIV) ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธีการอื่นเพื่อยืนยัน
- การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี หรือ เรียกอีกชื่อว่า การตรวจแบบ NAAT – Nucleic Acid Amplification Testing สามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน
ทำไมต้องตรวจเอชไอวี
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี ควรรีบเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ เนื่องจากการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความกังวลใจ นอกจากนี้ถ้าผู้รับการตรวจติดเชื้อเอชไอวี จะทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ได้รับทราบข้อมูลในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงเทคนิคในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อ ลดความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและนำไปสู่ผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น
ตรวจเอชไอวีได้ที่ไหนบ้าง
การตรวจเอชไอวีในไทยนั้น สามารถตรวจได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์อนามัย คลินิกที่ร่วมรายการ แต่ควรโทรสอบถามก่อนล่วงหน้า เพื่อความมั่นใจว่าสามารถตรวจได้ฟรีจริงหรือไม่ หรือคลินิกพิเศษต่างๆ เช่น คลีนิคนิรนาม หรือคลินิกพิเศษของศูนย์ดรอปอินต่าง ๆ เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานบริการที่เข้ารับบริการ เพื่อดูวัน เวลา และสถานที่ให้บริการ บริการที่มี และเงื่อนไขการให้บริการต่าง แต่ทางเลือกอีกทางสำหรับผู้ที่ ไม่ต้องการเดินทาง ไปตรวจที่สถานพยาบาลเลย แค่เพียงไม่มั่นใจ ว่าได้รับความเสี่ยงมา จริงหรือไม่ คุณสามารถซื้อ ชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง มาตรวจก่อนได้ ซึ่งการแปลผล จะสามารถบอกได้ว่าคุณเสี่ยง หรือไม่เสี่ยง
ตรวจเอชไอวีราคาเท่าไร
- คลินิกนิรนาม ตรวจแบบรู้ผลทันทีจะเริ่มต้นที่ 200 บาท ตรวจด้วยวิธี PCR เริ่มต้นที่ 1,500 บาท
- ตรวจที่ LAB ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 500-2,500 บาท ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ(รู้ผล 1 สัปดาห์)
- โรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 600-3,000 บาท
- โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และสามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง เพียงมีบัตรประชาชน และทั้งนี้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็สามารถ ตรวจ HIV ฟรี ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากผู้ปกครอง ไม่ต้องอดข้าว อดน้ำ ก่อนไปตรวจ
ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ที่คอยช่วยพัฒนาวิธีการตรวจเอชไอวีให้สะดวกสบาย รวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจ คือ การเตรียมความพร้อมของผู้ตรวจ กล้าที่จะเข้ารับการตรวจ เพราะยิ่งเข้ารับการตรวจได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้คุณสามารถวางแผนการใช้ชีวิตต่อไปได้เร็วขึ้น