ดูแลตัวเองอย่างไร ?…เมื่อเป็นโรคซิฟิลิส  

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย และระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงมักถูกจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคซิฟิลิสคือ?

ซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum)  โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง และ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นหากไม่รักษา

โดยทั่วไปโรคซิฟิลิสจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากที่ได้รับเชื้อ ก็มักจะแสดงอาการภายใน 10 – 90 วัน

โรคซิฟิลิส ติดต่อกันได้อย่างไร

สามารถรับเชื้อซิฟิลิสได้ 3 ทาง คือ

  1. ทางเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด ท่อปัสสาวะ
  2. ติดต่อผ่านการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ โดยผ่านทางผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก
  3. จากแม่สู่ลูก โดยหากมารดาเป็นซิฟิลิส จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ทารกในครรภ์ได้ โดยเรียกเด็กที่เป็นซิฟิลิสจากสาเหตุนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) จะแสดงอาการหลังคลอดได้ 3-8 สัปดาห์ และเป็นอาการเล็กน้อยมาก จนแทบไม่ทันได้สังเกต เช่น มีตุ่มผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มาออกอาการมาก ๆ เข้าเมื่อตอนโต ซึ่งก็เข้าสู่ระยะที่สี่แล้ว หรือบางคนอาจแสดงอาการพิการออกมาให้เห็นได้ชัด

อาการของซิฟิลิส

แบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis)

มักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ โดยปลายขอบแผลมีลักษณะเรียบและแข็งที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้ แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10-90 วัน มักไม่มีอาการเจ็บปวดและจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา

ระยะที่ 2 (Secondary Stage)

โรคจะเริ่มพัฒนาจากระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง หรืออาการอื่น ๆ แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปแม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน

ระยะสงบ หรือระยะแฝง หรือ Latent Syphilis

เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายและตรวจเลือดพบได้ ระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปีก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้าย

ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis)

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรคพัฒนามาจนถึงระยะสุดท้ายที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง ระบบประสาท หรืออวัยวะหลายส่วนของร่างกายเมื่อเชื้อไปอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น อัมพาต ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนของซิฟิลิส

หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องให้หายขาด อาการของโรคที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายอาจพัฒนารุนแรงขึ้นได้เมื่อเชื้อไปอยู่ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อัมพาต โรคหัวใจ ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม ไร้สมรรถภาพทางเพศ เสียสติ หูหนวก และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ในสตรีมีครรภ์อาจมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตขณะแรกคลอด รวมไปถึงทารกอาจมีภาวะของโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดหากเชื้อมีการส่งผ่านจากแม่ไปยังทารก ทำให้เกิดปัญหาความผิดปกติในอวัยวะหลายส่วนหลังจากคลอดภายในไม่กี่สัปดาห์ เช่น กระดูก ดวงตา ฟัน สมอง การได้ยิน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีได้ง่ายมากขึ้นผ่านทางแผลตามร่างกายเมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่เป็นโรคซิฟิลิส

เมื่อป่วยเป็นโรคซิฟิลิส ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ? 

  1.  มาพบแพทย์ตามแผนการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด ให้มาฉีดยาตามวัน เวลาที่แพทย์กำหนด และครบตามจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง ในกรณีที่รักษาด้วยยารับประทานให้มาพบแพทย์ตามนัด          
  2. ถ้ารับการรักษาไม่ครบตามคำสั่งแพทย์ ต้องเริ่มต้นรักษาใหม่
  3. หากมีประวัติเคยแพ้ยาเพนนิซิลิน ต้องบอกให้แพทย์ทราบก่อนการรักษา
  4. การติดตามผลการรักษา แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดหลังได้รับการรักษาครบ 3 เดือนและนัดเป็นระยะๆ จนครบ 5 ปี หรือเมื่อแพทย์พิจารณาเห็นควรให้เลิกนัดได้  
  5. กรณีที่ยังรักษาไม่ครบ คู่สมรสยังไม่ได้รับการตรวจเลือด หรือคู่สมรสมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ แนะนำให้งดเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์       
  6. หากตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์ 
  7. สำหรับทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิส  ควรได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์  ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อลดความผิดปกติของอวัยวะในระยะยาว
  8. แนะนำให้คู่สมรสมารับคำปรึกษาและการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส                            
  9. ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง  เพราะจะทำให้โรคไม่หายขาดและอาจแพ้ยาได้
  10. เมื่อเป็นโรคซิฟิลิสครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นโรคนี้อีก แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และครบถ้วนก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้อีก
  11. อาหารที่รับประทานจะต้องประกอบไปด้วยข้าว ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งนมและไข่ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
  12. ดื่มน้ำให้มาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  13. งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสิ่งกระตุ้นทั้งปวง ตลอดจนน้ำชา กาแฟ และอาหารเผ็ดร้อนต่าง ๆ
  14. อาบน้ำบ่อย ๆ และอาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

การป้องกันซิฟิลิส

  1. งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 
  2. มีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
  3. ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย)
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิส คู่นอนอาจมีแผลที่ปาก ลิ้น อวัยวะเพศ ดังนั้นอาจติดเชื้อได้จากการ จูบ หรือทำ Oral sex
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้
  6. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้
  7. งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  8. หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก
  9. การทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆของคู่นอน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์
  10. ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติ อย่ารักษาด้วยตนเอง  หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงซิฟิลิส

การรักษาซิฟิลิส

สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก แม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนโรคมีการพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ในช่วงระหว่างการรักษา ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคหรือกระตุ้นให้โรคเกิดการกำเริบมากขึ้นหากได้รับเชื้อจากผู้อื่นอีกครั้ง และแนะนำให้คู่นอนมาตรวจด้วยเช่นกัน

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

หากพบอาการป่วยของโรคนี้ แล้วได้รับ การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อนในระยะยาว

อ่านบทความอื่นๆ

Similar Posts